ขออนุญาต นำบทความที่เคยลงใน m.posttoday.com
ส่องเส้นทางสู่นักบินพาณิชย์
สาธิต จาตุรงคกุล นักบินอาชีพจากสถาบันดรีมวิงส์ อธิบายให้ฟังว่า เส้นทางนักบิน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
1. “Student Pilot” หรือการสอบชิงทุนของสายการบิน คุณสมบัติเบื้องต้น คือ จบปริญญาตรี สาขาใดก็ได้ อายุไม่เกิน 28 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม พ้นพันธะทางทหาร ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 165 หรือ 168 ซม.แล้วแต่สายการบิน โดยขั้นตอนการสอบจะมีตั้งแต่ สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย และสอบความถนัดในการเป็นนักบินหรือที่เรียกว่า Aptitude Test เมื่อสอบผ่านทั้งหมดแล้ว จะถูกส่งไปเรียนในสถาบันการบินตามสายการบินต้นสังกัดจะกำหนดเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี
"การได้รับทุนจากสายการบินจะทำให้มีหลักประกันได้อย่างแน่นอนว่า เมื่อเรียนจบจากสถาบันการบินและได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์แล้วจะได้รับเข้าทำงานเป็นนักบินในสายการบินที่ได้รับทุนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการสอบชิงทุนเช่นนี้ มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบ โดยวิชาที่ใช้การสอบข้อเขียน มี ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ส่วนการตรวจร่างกายนั้นจะตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันเวชศาสตร์การบินกำหนด"
ด้านการสอบความถนัดในการเป็นนักบิน (Aptitude Test) จะเป็นการสอบทักษะทางด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยทักษะส่วนแรกเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "พรสวรรค์" ทักษะเหล่านี้ถูกพัฒนามาจากการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การเล่นเกมส์ การฝึกคิดวิเคราะห์ การพัฒนาจิตใจ การแสดงอารมณ์และการควบคุมความรู้สึก
ทักษะอีกส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเรียกได้ว่า "พรแสวง" ทักษะด้านนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝน และคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องทางด้านการบิน อาจพูดเป็นนัยได้อีกทางหนึ่งว่าหากเราได้พบปะพูดคุย เรียนรู้จากนักบิน ก็จะสามารถโน้มนำให้ทัศนคติและบุคลิกเหมาะสมกับความถนัดทางด้านการบินได้
ซึ่งหลังจากเรียนจากจบสถาบันการบินจะได้ License PPL : Private Pilot License หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (40 ชั่วโมง) และ CPL : Commercial Pilot License นักบินพาณิชย์ (200 ชั่วโมง)
รูปแบบการสมัครที่ 2. Qualified Pilot หรือ นักบินที่มี "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot license)"
การจะมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ขั้นต้นนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองเส้นทางคือ
1.การสมัครเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะเกี่ยวกับนักบินพาณิชย์
2.การสมัครเข้าเรียนการบินตามสถาบันการบินต่างๆ ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดของเส้นทางทั้งสองแบบ คือการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ขั้นต้นที่เรียกว่า "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี" หรือ "Commercial Pilot License (CPL)"
เมื่อได้รับใบอนุญาตนี้แล้วจึงจะสามารถทำการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเป็นนักบินสายการต่างๆได้ อย่างไรก็ตามการสอบเข้าแข่งขันระหว่าง Qualified pilot นั้น ไม่เพียงแต่จะมีนักบินที่ถือใบอนุญาตพาณิชย์ตรีมาสอบแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีผู้ถือใบอนุญาตนักบินอีกประเภทหนึ่งที่จะเข้ามาทำการสอบด้วย คือนักบินที่ถือ "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก" หรือ "Airline Transport Pilot License (ATPL)" ซึ่งก็คือนักบินที่มีประสบการณ์การบินในสายการบินมาแล้วในระดับหนึ่ง
ดังนั้น การสอบ Qualified Pilot คือการสอบแข่งขันระหว่างนักบินที่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ด้วยกัน อันได้แก่ นักบินที่จบจากสถาบันการบินใหม่ๆ กับนักบินที่ต้องการย้ายสายการบิน
โดยสรุป การจะเป็นนักบินพาณิชย์ได้ หลังจาก จบม.6 สามารถเลือกได้ 3 เส้นทาง
1.เรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย คณะที่เกี่ยวกับการบินจนได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี แล้วสอบ Qualified pilot
2.เรียนปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ จากนั้นเรียนการบินในสถาบันการบินเองเพื่อให้ได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี แล้วสอบ Qualified pilot
3.เรียนปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ จากนั้นมาสอบชิงทุน Student Pilot
ทั้งนี้ ค่าเล่าเรียน CPL ในเมืองไทยอยู่ที่ ประมาณ 2 ล้านบาท สำหรับ Student Pilot หรือนักเรียนทุนสามารถผ่อนชำระตามเงื่อนไขของเเต่ละบริษัท
เมื่อผู้เรียนผ่านการทดสอบจากสถาบันการบินแล้ว จะถูกส่งไปยังสายการบินแต่ละแห่ง เพื่อทำการทดสอบอีกมากมาย ราว 1 ปีครึ่ง ไล่ตั้งแต่การเรียนรู้หลักสูตรของแต่ละสายการบิน กฎระเบียบทั้งในระดับประเทศและสากล การทดสอบบนเครื่องบินจำลอง ก่อนก้าวขึ้นเป็น “นักบินฝึกหัด” เก็บชั่วโมงบิน ไต่ระดับไปเป็น “นักบินผู้ช่วย”
รวมระยะเวลาตั้งแต่เรียนวันแรก กระทั่งเป็นนักบินผู้ช่วย ใช้เวลาราว 2 ปีครึ่ง และกว่าจะเป็นได้ “กัปตัน” ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี บางสายการบินต้องใช้เวลาถึง 12 ปี
http://m.posttoday.com/analysis/report/417404?refer=https%3A%2F%2Fwww.google.co.th%2F